ชื่อเรื่องการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม ผู้รายงาน นายมานิต ธรรมสัตย์ โรงเรียน ศรีแก้วพิทยา อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ปีที่พิมพ์ 2555 บทคัดย่อ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วน 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วมกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาครั้งนี้ ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู นักเรียนโรงเรียนศรีแก้วพิทยา อำเภอศรีรัตนะ จังหวัดศรีสะเกษ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย จำนวน 260 คน ซึ่งได้มาโดยการการสุ่มอย่างง่าย (simple random sampling) จาก ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ครู นักเรียน ในสัดส่วน 2 : 125 : 8 : 125 เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาครั้งนี้จำแนกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับครูผู้จัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น 2) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตามแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น เป็นข้อสอบแบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ .36 ถึง .85 และมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .87 และ 3) แบบวัดความพึงพอใจของผู้ปกครอง ครู และนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ .32 ถึง .94 และมีความเชื่อมั่น เท่ากับ .92 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ร้อยละ และทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t – test (Dependent Samples)
ผลการพัฒนาปรากฏดังนี้ 1. แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 โดยมีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.29/80.94 สรุปได้ว่าแผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วม ที่ผู้รายงานสร้างขึ้น มีคุณภาพตามเกณฑ์ 2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วมสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. ความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบมีส่วนร่วมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.57