ประวัติกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์ไทย
กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เริ่มขึ้นจากการที่นางสาวกนก สามเสน (ปัจจุบัน คือ ดร.คุณหญิงกนก สามเสน วิล ) ได้ไปดูงานและเยี่ยมชมกิจการของ The Girl Scouts Association of U.S.A ที่นครนิวยอรค์ เนื่องในโอกาสเข้าร่วมสัมมนากับ Committee of Correspondence เมื่อ พ.ศ. 2499
จากความประทับใจในกิจกรรมการทำงานของคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ การที่ได้พบเห็น Girl Scouts เป็นบุคคลที่คล่องแคล่ว มีบุคลิกภาพดี และแต่งตัวเก๋ ท่านจึงเห็นว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็กผู้หญิงเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทย คุณหญิงกนก ซึ่งเป็นกรรมการของสมาคมสตรีอุดมศึกษาสมัยนั้นได้รับอาสาเป็นผู้ดำเนินงานกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ สโมสรปรียา เครือหนังสือพิมพ์สตรีสาร ซึ่งมีการชุมนุมที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง กรุงเทพฯ หลังจากที่มีกิจกรรมไป 3-4 ครั้งก็ได้นำเรื่องราวที่พบเห็น มาเล่าให้สมาชิกกลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ฟัง สมาชิกให้ความสนใจมาก มีความกระตือรือร้นที่จะรับการฝึกบ้าง ท่านจึงได้นำเรื่องราวทั้งหมดปรึกษากับคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง และคณะกรรมการสมาคมสตรีอุดมศึกษา ขณะนั้นมีอาจารย์สมัยสวาท พงศ์ทัต เป็นนายกสมาคม ทุกคนไม่ขัดข้องจึงได้ติดต่อไปยัง Committee of Correspondence ให้ช่วยหาเอกสารให้ องค์การนี้จึงติดต่อไปยัง Girl Scouts of U.S.A. ภายในสองสัปดาห์ ก็ได้รับหนังสือคู่มือต่างๆ ขณะเดียวกัน Girl Scouts of U.S.A. ได้แจ้งองค์กรผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก หรือ The World Association of Girl Guide and Girl Scouts ให้ทราบด้วย
เดือนมีนาคม ปี 2500 องค์การโลกได้ส่ง Miss Mildred Mode ปัจจุบันคือ Mrs. Mildred Owenhuge ซึ่งเป็น Traveling commissioner ของภาคพื้นเอเชีย และ Miss Marie de Figuredo ผู้ฝึกจากฮ่องกง มาช่วยฝึกเยาวสตรีเป็นผู้จัดกิจกรรม (หัวหน้าหมวด) Girl Guides ที่สมาคมสตรีอุดมศึกษา ถนนรองเมือง ผู้รับการฝึกส่วนใหญ่ คือ นิสิตและนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 20 คน สมาชิกกลุ่มแรกนี้สอบผ่านและปฏิญาณตนเมื่อเดือน มีนาคม 2500 จำนวน 18 คน ผู้รับปฏิญาณตน คือ Miss Helen Mc Swinny ต่อมาผู้ที่ได้รับการฝึกเป็นหัวหน้าหมวด Girl Guides ได้เปิดหมวดสมาชิก Girl Guides หมวดแรก คือ กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ของสโมสรปรียา และสมาชิกกลุ่มแรก เป็นผูลงคะแนนเสียงให้เรียก Girl Guides ว่า “ผู้บำเพ็ญประโยชน์” เพราะเห็นว่าเป็นชื่อที่แสดงความหมายที่เข้าใจ คณะอนุกรรมการได้มีโอกาสเข้าเฝ้ากรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ขอประทานข้อคิดเห็นถึงชื่อว่าอย่างใดจะเหมาะสมกับเรื่องราวดีอยู่แล้ว
นอกจากตั้งชื่อแล้ว สมาชิกกลุ่มแรกยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายของผู้บำเพ็ญประโยชน์ด้วย โดยถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ เครื่องแบบที่ยังคงยึดถืออยู่จนถึงปัจจุบัน คือ เสื้อสีฟ้าอมเทา สวมหมวกเบเร่ต์สีกรมท่า มีตราสมาคมสีแดงติดหน้าหมวก เข็มขัดหนังสีดำ หัวเข็มขัดมีตราสมาคมอยู่ตรงกลาง
เนื่องจากสมาคมสตรีอุดมศึกษา เป็นสมาชิกสหพันธ์สมาคมสตรีอุดมศึกษาระหว่างประเทศ จำเป็นต้องมีกฎพิเศษ และกฎข้อหนึ่ง คือ สมาชิกของสมาคมสตรีอุดมศึกษาจะต้องเป็นผู้จบปริญญาตรี หรือผ่านการเรียนระดับอุดมศึกษาอย่างน้อย 2 ปี จึงเห็นว่าถ้าจะให้กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์ได้มีการขยายกิจการให้กว้างขวาง จะต้องมีสมาชิกเพิ่ม และสมาชิกส่วนมาก คือ บุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้ผ่านการศึกษาขั้นปริญญา อีกประการหนึ่ง การที่องค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แต่ละประเทศจะเป็นสมาชิกองค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก จำเป็นต้องยึดหลักการในข้���หนึ่งนั้น คือองค์การต้องเป็นอิสระ อนุกรรมการขณะนั้นจึงมีมติให้แยก “กลุ่มผู้บำเพ็ญประโยชน์” จากสมาคมสตรีอุดมศึกษาและตั้งเป็นสมาคมโดยเอกเทศขึ้น โดยใช้ชื่อว่า สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย (THE GIRL GUIDES ASSOCIATION OF THAILAND)
โปรแกรมที่ใช้ในการจัดกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์
1. การบำเพ็ญประโยชน์ (GIVING SERVICE)
โปรแกรมนี้จะช่วยเส่วงเสริมและสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้เรียนรู้ เกี่ยวกับกิจการผู้บำเพ็ญประโยชน์ (GIRL GUIDING) ได้ฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้เป็นผู้ที่ช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ แสดงความเมตตากรุณา เพื่อให้ไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม “การทำความดีอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง เป็นการบำเพ็ญประโยชน์อย่างหนึ่ง”
2. การเป็นพลเมืองดี (CITIZENSHIP)
โปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้ฝึกฝนตนเองให้เป็นพลเมืองที่ดีมีความรับผิดชอบ โดยการปฏิบัติหน้าที่ต่อโรงเรียน ชุมชน และประเทศชาติด้วยความเต็มใจ และปฏิบัติตามคำปฏิญาณ และกฎของผู้บำเพ็ญประโยชน์
3. วัฒนธรรมและมรดกของชาติ(CULTURE AND HERITAGE)
โปรแกรมนี้จะช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีความรู้ ความเข้าใจ และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และมรดกของชาติ พร้อมที่จะอนุรักษ์และช่วยเผยแพร่สิ่งที่ดีงามนี้แก่ผู้อื่น
4. สิ่งแวดล้อม (ENVIRONMENT)
โปรแกรมนี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กผู้หญิง และเยาวสตรีได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อม การพัฒนา การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. การอยู่ร่วมกับผู้อื่น (RELATIONSHIPS)
โปรแกรมนี้ช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้รู้จักตนเองและรู้จักผู้อื่น โดยการเป็นมิตรและเรียนรู้การทำงานร่วมกับ ผู้อื่น โดยกระบวนการของระบบหมู่
6. สุขภาพ (HEALTH)
โปรแกรมนี้จะช่วยเตรียมตัวให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีมีสุขภาพดี สติปัญญาเฉลียวฉลาด มีอารมณ์มั่นคงและรู้จักปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสังคมได้เป็นอย่างดี
7. ประสบการณ์นานาชาติ (INTERNATIONAL UNDERSTANDING)
โปรแกรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้มีประสบการณ์นานาชาติ และมีความเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งมีพื้นฐาน วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทำงานร่วมกันได้อย่างสันติเด็กหญิงและเยาสตรีจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนานาชาติ ภาษาต่างประเทศ กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ของประเทศต่างๆ เรื่องเกี่ยวกับองค์การผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งโลก ภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคและสายใยแห่งความสัมพันธ์ของสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ ทั่วโลก
8. เทคโนโลยี (TECHNOLOGY)
โปรแกรมนี้ช่วยให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี มีทักษะและสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
9. ครอบครัว (FAMILY LIFE)
โปรแกรมนี้จะทำให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีทราบและเข้าใจบทบาทความรับผิดชอบและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อครอบครัว ความสัมพันธ์และภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
10. วิสัยทัศน์ (MY VISION)
โปรแกรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้เด็กผู้หญิงและเยาวสตรีได้มีโอกาสค้นคว้าหาความต้องการ ความสามารถ ความสนใจ วิสัยทัศน์ของตนเอง และได้เรียนรู้ทักษะใหม่ต่างๆ เพื่อเตรียมตัวเองให้สามารถตัดสินใจที่จะเลือกอาชีพที่ตนเองถนัดและต้องการได้ในอนาคต
การจัดหมวดหมู่ของผู้บำเพ็ญประโยชน์
กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมใช้ระบบหมู่เป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมดังนั้น เมื่อนักเรียนสมัครเป็นสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ จึงต้องมีการจัดหมวดหมู่ของตนเอง ซึ่งการจัดกิจกรรมให้เกิดหมวดหมู่ โดยความสมัครใจของสมาชิก นิยมใช้กิจกรรมการสร้างความคุ้นเคย กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในหมู่สมาชิก เพื่อให้เกิดความรู้จักคุ้นเคย สนิทสนมกัน และเป็นการละลายพฤติกรรมให้สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ทุกคนได้อย่างมีความสุขลักษณะการจัดหมวดหมู่ของผู้บำเพ็ญประโยชน์ หากเป็นหมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นนกน้อยคือ ระดับอนุบาล จะมีสมาชิกจำนวนอย่างน้อย 8 คน และไม่เกิน 16 คน สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ ไม่เกิน 6 คน หมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นนกสีฟ้ามีสมาชิกอย่างน้อย 12 คนหรือ 2 หมู่ อย่างมากไม่เกิน 24 คน หรือ 4 หมู่ สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ ไม่เกิน 6 คน และสำหรับหมวดผู้บำเพ็ญประโยชน์ รุ่นกลางและรุ่นใหญ่มีสมาชิกอย่างน้อย 16 คนหรือ 2 หมู่ อย่างมากไม่เกิน 32 คนหรือ 4 หมู่ สมาชิกในหมู่รวมทั้งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ ไม่เกิน 8 คน
วิธีการคัดเลือกหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่
การคัดเลือกหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ดำเนินการตามแบบประชาธิปไตยโดยสมาชิกในหมู่เสนอชื่อเพื่อนในหมู่อย่างน้อย 2 คน เป็นหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ โดยมีการลงคะแนน ผู้ที่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดเป็นหัวหน้าหมู่ ส่วนคนที่ได้คะแนนรองลงมาจะเป็นรองหัวหน้าหมู่ ซึ่งหัวหน้าหมู่และรองหัวหน้าหมู่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลสมาชิกในหมู่และประสานงานกับหัวหน้าหมวด
วิธีการตั้งชื่อหมู่
กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์นิยมตั้งชื่อของหมู่เป็นดอกไม้ เช่น หมู่ดอกมะลิ หมู่ดอกบานบุรี หมู่ดอกแก้ว หมู่ดอกบานเช้าเหลือง ทั้งนี้เพราะกิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์เป็นกิจกรรมสำหรับเยาวสตรี ดังนั้นชื่อของหมู่จึงนิยมใช้ชื่อดอกไม้ซึ่งเป็นสิ่งที่สวยงาม น่ารักและสดชื่น สดใสเหมือนสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์ทุกคน
|