ศิลปะคืออะไร
ศิลปะเป็นกิจการที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์ แสดงออกจากความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์จากมโนภาพที่ได้จากความจริงหรือจินตนาการที่คิดฝันขึ้น โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางให้ผู้อื่นสามารถเข้าใจในอุดมการณ์นั้น งานศิลปะที่มีคุณค่าจึงสร้างสรรค์ขึ้นจากการแก้ปัญหาที่ต้องใช้ปัญญาอันสูงส่ง จนมีความเชื่อกันว่ามนุษย์เท่านั้น เป็นผู้มีสติปัญญา จนถึงขั้นที่สามารถแก้ปัญหาสร้างสรรค์งานศิลปะได้ ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามนุษย์สามารถปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น การใช้วัสดุและเครื่องมือ การสร้างสรรค์ให้มีคุณค่าทางความงาม เช่น การก่อสร้างที่พักอาศัย การก่อสร้างโบราณวัตถุและโบราณสถาน
การแสดงออกของมนุษย์ในการสร้างสรรค์งานศิลปะจึงเกิดจากมูลเหตุที่ว่ามนุษย์ได้รับรู้ในความงามของธรรมชาติที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปแบบลักษณะพื้นผิว สีและสัดส่วน มนุษย์จะมีความชื่นชมในความงามที่ตนสร้างขึ้นจนเกิดความพอใจในและประทับใจในสิ่งที่ตนสร้างขึ้นมา เช่น จิตรกรจะแสดงความรู้สึกพอใจเมื่อสามารถเขียนภาพได้ดี จะมีคนชื่นชมต่อผลงานนั้นของตนที่สามารถทำให้ผู้อื่นเกิดความรูสึกพอใจในผลงานของตนได้
ในความหมายของศิลปะนี้ ปราชญ์ชาวกรีกได้ให้นิยามว่า ”งานศิลปะเป็นการลอกเลียนแบบธรรมชาติ ”( The imitation of nature ) ต่อมาบรรดาพวกนักปราชญ์ กวี ศิลปิน และนักการศึกษาหลายท่านได้ให้นิยามตามแนวคิดเห็นของแต่ละท่านซึ่งความคิดเห็นนั้นล้วนถูกต้องด้วยกันทั้งสิ้น ทรรศนะของกวีนั้นท่านได้กล่าวไว้หลายด้านว่า
-ฌัง เดอ ลา ฟงแตน ( Jean de La Fontaine, 1621-95 ) กวีและนักเขียนนิทานชาวฝรั่งเศสได้กล่าวว่า “ ศิลปะคือบุตรแห่งความจำเป็น “
-เกอเท ( Goethe, 1749-1832 ) กวีชาวเยอรมันกล่าวว่า “ ศิลป ก็เป็นเพียงศิลปะ เพราะศิลปะไม่ใช่ธรรมชาติ “ ( Art is art only because it is not nature )
-เฟรเดริค เจมส์ เกร๊ก ได้เขียนไว้ในคำนำสูจิบัตรการแสดง Armory show ในอเมริกาเมื่อ ค.ศ.1913 ตอนหนึ่งกล่าวว่า “ ศิลปะ คือ เครื่องหมายแห่งชีวิต “ ( Art is sign of life)
-เฮอเบิร์ต รีด ( Herbert Read 1893 ) นักวิจารณ์ศิลปะชั้นนำชาวอังกฤษได้ให้นิยามความ หมายของศิลปะไว้ว่า “ ศิลปะคือการแสดงออก “ ( ART is expression ) โดยยึดหลักว่า อารมณ์และความรู้สึกเป็นสิ่งผลักดันให้เกิดการแสดงออกมาทางศิลปะ
-เฮนรี่ มัวร์ ( Henry Moore, 1989 )ประติมากรรมสมัยใหม่ชาวอังกฤษได้ให้ความหมายของศิลปะว่า “ ศิลปะ คือ กิจกรรมอันต่อเนื่องแห่งสากลที่ปราศจากการแบ่งแยกระหว่างอดีตและปัจจุบัน “
-ท่านศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ( C. Feroei, พ.ศ.2435-2505 ) ได้ให้ความหมายของศิลปะไว้ว่า “ศิลปะ หมายถึง งานอันเป็นความพากเพียรของมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามด้วยมือและด้วยความคิด “
จากความคิดเห็นดังกล่าวนี้ พอจะสรุปได้ว่าศิลปะคือ สิ่งที่กลั่นกรองมาจากอารมณ์และความรู้สึกซึ้งในจิตใจของมนุษย์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากความปรารถนามาตั้งแต่เกิด เพื่อที่จะปรับปรุงชีวิตและสิ่งแวดล้อมให้มีความสวยสดงดงาม สิ่งเหล่านี้เกิดจาการสร้างสรรค์หรือปรุงแต่งสิ่งที่ไม่สามารถหาได้จากธรรมชาติ ดังนั้นผลงานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นจึงกลายเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม (culturalheritage ) ที่ล้ำค่าของมนุษย์สืบต่อกันมา โดยถือว่าเป็นผลงานที่มีความหมายในหน้าที่หรือประโยชน์และการสร้างสรรค์ ตามความต้องการอย่างเหมาะสมของสังคม ( Social needs ) ของแต่ละยุคแต่ละสมัย
ในพจนาจุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2530 ได้อธิบายไว้ว่า “ศิลปะเป็นภาษาสันกฤต หมายถึง งานฝีมือทางการช่าง การแสดงออกมาให้ปรากฏขึ้นได้อย่างงดงามน่าฟัง ชม และเกิดอารมณ์สะเทือนใจ”
ในภาษาบาลี ศิลปะ หมายถึง ศิลปะสาขาหรือการช่าง
คำว่า ศิลป ( Art ) มาจากภาษาละติน แปลว่า ความชำนาญ หรือทักษะในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาของอิตาลี คำว่า “ art ” นั้น หมายถึง สมาคมช่างCraft guilds และคำว่า “ อาเต “ ARTE หมายถึง ฝีมือช่าง ทักษะ และการประดิษฐ์ทางการช่าง
ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุมพฤติกรรมการแสดงออกและการสร้างสรรค์ทุกๆด้านของมนุษย์ นักปราชญ์ นักการศึกษาได้พยายามกำหนดความหมายหรือคำนิยามของศิลปะ ไว้ ดังนี้
ศิลปะ คือ การเลียนแบบธรรมชาติ โดยการสรางสรรค์
ศิลปะ คือ การแสดงออกเกี่ยวกับความศรัทธาเชื่อถือในแต่ละยุคสมัย
ศิลปะ คือ การแสดงออกทางบุคลิกภาพเด่นๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปิน
ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความรู้สึกหรือการแสดงความรู้สึกที่เป็นธรรม โดยใช้สัดส่วน รูปทรงความกลมกลืนองค์ประกอบเป็นส่วนช่วยด้านต่างๆ
ศิลปะ คือ การแสดงออกทางความงาม
ศิลปะ คือ การแสดงออกทางความเชื่อ
ศิลปะ คือ ความชำนาญในการถ่ายทอดประสบการณ์และจินตนาการ ให้เป็นวัตถุที่มีสุนทรียภาพ
ศิลปะ คือ การรับรู้ทางการเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยใจ
ศิลปะ เป็นภาษาชนิดหนึ่งที่สามารถถ่ายทอดให้ความรู้สึกได้อย่างซาบซึ้ง
อิทธิพลที่ทำให้ศิลปะแตกต่างกัน
การสร้างงานศิลปกรรมของมนุษย์แต่ละชาติแต่ละกลุ่ม มีความแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้เพราะอิทธิพลต่าง ๆ ดังนี้
1.สภาพทางภูมิศาสตร์
2.สภาพทางประวัติศาสตร์
3.สภาพทางสังคม
4.ปรัชญา และศาสนา
5.วัสดุก่อสร้าง
6.สกุลศิลปะ
สภาพทางภูมิศาสตร์
กลุ่มชนใดตั้งถิ่นฐานในทำเลที่เหมาะสม อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและน้ำ ก็ย่อมทำให้มีเศรษฐกิจดี มีวัสดุมากพอที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ ในทางตรงข้ามกลุ่มชนใดอยู่ในแหล่งทุรกันดาร ภูมิอากาศรุนแรง ร้อนจัด หนาวจัด น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด การดำเนินชีวิตก็จะเป็นไปได้ยากทำให้เศรษฐกิจไม่ดี จึงไม่มีเวลาสร้างสรรค์ศิลปกรรมที่ดีงามได้ และศิลปกรรมของคนสองกลุ่มนี้ก็จะแตกต่างออกไป ฉะนั้นดินฟ้าอากาศก็มีส่วนในการสร้างสรรค์งานศิลปกรรม ในประเทศเขตร้อนศิลปกรรมจะแตกต่างจากประเทศในเขตหนาว เช่น การสร้างบ้านเรือนของพวกในเขตร้อนจะมีลักษณะโปร่ง หลังคาสูงขึ้น ชายคายื่นออกมากเพื่อให้ฝนไหลเทลงมาสะดวก ถ้าแหล่งใดมีน้ำท่วมเสมอก็นิยมยกพื้นให้สูงขึ้น ลักษณะเช่นนี้แตกต่างจากประเทศเมืองหนาวที่สร้างบ้านเรือนมิดชิดแข็งแรง เพราะป้องกันความหนาวเย็น การสร้างพื้นบ้านไม่นิยมยกสูง และหลังคาไม่สูงขึ้นอีกเช่นกัน แม้แต่ในเรื่องการใช้สีก็นิยมสีอ่อนไม่ตัดกันรุนแรงดังเช่นประเทศร้อน
สภาพทางประวัติศาสตร์
ชนชาติต่าง ๆ มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน บางชาติเคยทำการศึกสงครามอยู่เสมอ บางชาติก็ถูกรุกรานโดยชาติมหาอำนาจ ทำให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายเสมอมา ชาติใดมีการตั้งบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคง มีการจัดสังคมอย่างมีระเบียบเรียบร้อยก็จะมีเวลาสร้างศิลปกรรมให้ใหญ่โตและละเอียดประณีตได้ ตรงข้ามกับชาติที่อพยพเคลื่อนย้ายอยู่เสมอ ความประณีตทางศิลปกรรมจะลดน้อยลงไป คุณค่าทางความงามต่ำลง ศิลปะทุกแขนงมีความเป็นไปตามความก้าวหน้าและความสามารถของกลุ่มชนในแต่ละยุคสมัย เช่น รูปปั้น รูปเขียน รูปแกะสลักอนุสาวรีย์ และป้อมปราการต่าง ๆ เกิดขึ้นมา เพราะอำนาจของกษัตริย์ หรือศรัทธาของประชาชนสภาพทางสังคม
สังคมใดที่มีการติดต่อกันอย่างกว้างขวางจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อารยธรรม และศิลปะต่าง ๆ รูปลักษณะของศิลปกรรมก็จะมีรูปแบบเฉพาะที่แตกต่างจากสังคมปิด ฉะนั้นสังคมที่มีการติดต่อกับสังคมอื่นอยู่เสมอวิวัฒนาการทางศิลปกรรมจะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมีการลอกเลียนแบบและนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสังคมของตนเอง ยิ่งมนุษย์มีความกว้างขวางในทางสังคมมากเท่าใด อิทธิพลทางสังคมจะทำให้ศิลปกรรมมีความแปลกแตกต่างออกไปมากเท่านั้น
ปรัชญาและศาสนา
เป็นส่วนที่มีอิทธิพลต่อความคิดในการสร้างสรรค์ศิลปกรรม เพราะเป็นสิ่งแวดล้อมทางจิตวิญญาณของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ที่โน้มน้าวจิตใจให้คนแต่ละคนเป็นผู้กล้าหาญ อดทน อ่อนโยน เมตตาปราณี หรือเกิดศรัทธาแรงกล้า ศิลปกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมานั้นล้วนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสิ่งแวดล้อมทางจิตใจนี้ ศิลปินมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คำสอนของลัทธิและปรัชญาเด่นชัดขึ้น โดยสร้างสัญลักษณ์ออกมาเป็นภาพเขียน ภาพปั้น งานแกะสลัก โบสถ์วิหาร และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อให้ชุมชนกราบไว้ยึดถือ อีกทั้งเป็นสื่อชักนำบุคคลเข้าสู่ปรัชญาหรือศาสนา
วัสดุก่อสร้าง
ในท้องถิ่นแต่ละแห่งต่างมีทรัพยากรไม่เหมือนกัน ฉะนั้นวัสดุที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นศิลปกรรมนั้นย่อมแตกต่างหลากหลายกันออกไป เช่น พวกเมโสโปเตเมีย นิยมสร้างศิลปกรรมด้วยวัสดุประเภทอิฐ เพราะดินหาง่ายกว่าหิน แต่ก็ทำให้ซากศิลปกรรมหลงเหลือมาในยุคปัจจุบันนี้น้อยมากต่างจากอียิปต์ที่นิยมสร้างศิลปกรรมด้วยหิน จึงสามารถเหลือตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบันให้เราได้ศึกษาความเป็นมาของมนุษยชาติได้
การที่แห่งหนึ่งมีวัสดุอย่างหนึ่ง แต่กลับจะไปใช้วัสดุที่ห่างไกลออกไปจะทำให้ยุ่งยากและติดขัดด้วยเรื่องการขนส่ง ค่าใช้จ่ายจึงสูงมาก และถ้าศิลปินไม่มีความเข้าใจในธรรมชาติของวัสดุที่ห่างไกลจากถิ่นเดิมของตนแล้ว อาจทำให้เกิดความสูญเสีย หรือใช้วัสดุนั้น ๆ ไม่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาพของมัน
อิทธิพลทางสกุลศิลปะ
สกุลศิลปะ หมายถึง ตระกูลหรือกลุ่มศิลปินที่ประกอบงานศิลปะอย่างมีหลักเกณฑ์ เทคนิคและอุดมคติในความงามทางศิลปะที่ต่อเนื่องกันมาหลายชั่วคน เมื่อศิลปะวัตถุเหล่านี้ตกอยู่ในถิ่นฐานอื่น ๆ เราก็สามารถตรวจสอบรูปแบบของมันได้
ในสมัยโบราณศิลปินที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ได้รับการชุบเลี้ยงอย่างดีจากพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดเป็นศิลปินประจำราชสำนักขึ้นมา ซึ่งมีโอกาสที่จะสร้างสรรค์งานสำคัญของประเทศได้อย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้มีผู้นิยมมาศึกษาเล่าเรียนกันอย่างแพร่หลาย เกิดเป็นสกุลศิลปะแต่ละสกุลที่มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานโดยไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้สังเกตได้ง่ายสำหรับผู้ศึกษาในชั้นหลัง ๆ
ฉะนั้น ผลงานศิลปินต่างสกุลกันจึงมีความแตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นความรุนแรงทางจิตใจและเชื้อชาติก็จะแสดงออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าศิลปินสกุลใดจะตกไปอยู่ในภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อมใดก็ตาม
|