กระท่อม พืชยา
กระท่อม เป็นพืชที่มีการใช้เป็นยามาอย่างยาวนานแต่โบราณใช้ใบกระท่อมเพื่อรักษาการติดเชื้อในลำไส้ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ลดไข้ บรรเทาอาการไอและท้องร่วง โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา แต่เป็นที่รู้กันว่ากระท่อมถูกจับให้เป็นยาเสพติด กลายเป็นพืชต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกเมื่อ 76 ปีก่อนซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2486 เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่นรัฐก็เลยใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับกระท่อม ซึ่งเป็นพืชยาชนิดนี้เพื่อให้รัฐจัดเก็บภาษีฝิ่นได้ตามเป้าหมายนั่นเอง ต่อมา กระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามความหมายในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 7 ได้แก่ กัญชา และพืชกระท่อม
กัญชาเหมือนจะมีผู้คนมาสนับสนุนการพัฒนาในด้านการแพทย์กันพอสมควร แม้ว่ายังมีข้อกังวลข้อถกเถียงถึงผลข้างเคียงจากกัญชา แต่ก็ถือว่ากัญชาได้เข้าสู่กระบวนการศึกษาและพัฒนาเพื่อการแพทย์เต็มตัวแล้วแต่กระท่อม ซึ่งถือว่าเป็นพืชประจำถิ่นในภาคใต้ของไทยยังมีแรงสนับสนุนให้เป็นพืชยาเพื่อการแพทย์ไม่มากนัก
กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงได้ถึง 15 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปไข่ ปลายแหลม โคนป้าน หูใบระหว่างก้านใบเป็นแผ่นคล้ายใบ ช่อดอกเป็นแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่ง มี 1-3 ช่อ ช่อกลางสั้นมาก แต่ละช่อประกอบด้วยดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงเป็นหลอดสั้น ปลายมี 5 แฉก กลีบดอกเป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 หยัก เมล็ดมีปีก
กระท่อมเป็นพืชที่อยู่ในสกุล Mitragyna หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ รายงานไว้ว่าพืชในสกุลนี้ในประเทศไทยมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่.
Mitragyna diversifolia (Wall ex G. Don) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อมขี้หมู กระทุ่มดง กระทุ่มนำ ท่อมขี้หมู ตุ้มน้ำ
Mitragyna hirsuta Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มโคก ตุ้มเขา ทุ่มพาย
Mitragyna parvifolia Korth. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มใบเล็ก
Mitragyna rotundifolia (Roxb.) Kuntze มีชื่อท้องถิ่นว่า กระทุ่มเนิน แก่นเหลือง ตุ้มกว้าว
Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า กระท่อม ท่อม อีถ่าง
กระท่อมมีหลายสายพันธุ์ถือเป็นความร่ำรวยทางชีวภาพ ในแต่ละพันธุ์มีความแตกต่างกันที่ลักษณะของใบ คือ พันธุ์ก้านแดงมีก้านและเส้นใบสีแดง พันธุ์แตงกวามีเส้นใบสีเขียวอ่อนกว่าแผ่นใบ พันธุ์ยักษ์ใหญ่มีใบขนาดใหญ่กว่าพันธุ์อื่นและส่วนบนของขอบใบเป็นหยัก
พันธุ์ที่นิยมบริโภคกันมาก คือ พันธุ์ก้านแดง ที่มีวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. มีชื่อท้องถิ่นว่า ท่อม (ภาคใต้) กระท่อม อีถ่าง (ภาคกลาง) และกระท่อมพบได้ในเขตร้อนและกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทวีปแอฟริกา ถือเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ นิวกินี
การศึกษาพบว่าใบกระท่อมมีสารสำคัญ เรียกว่า ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น สารไซโลไซบิน (psilocybin) ที่พบในเห็ดขี้ควาย LSD และยาบ้า ทำให้รู้สึกชา กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงานทำให้สามารถทำงานได้นานและทนมากขึ้นและทนต่อความร้อนมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงไม่ต้องแปลกใจที่สังคมเกษตรแต่ก่อนเก่า ก่อนที่กระท่อมจะกลายเป็นยาเสพติด ผู้ใช้แรงงานในท้องไร่ท้องนา หรือแม้แต่ทหารเดินทัพออกศึกในอดีตก็ได้กระท่อมเสริมพลัง กินใบกระท่อมช่วยให้ทำงานกลางแจ้งได้ทนนานขึ้นนั่นเอง
ฤทธิ์ทางเภสัชของ ไมทราไจนีน (Mitragynine) ที่ลดอาการเจ็บปวดได้ เมื่อให้กินทางปากในขนาด 200 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งมีฤทธิ์เทียบเท่ากับการได้รับมอร์ฟีนในขนาด 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมกระท่อมจึงเป็นยาที่นำมาใช้เพื่อลดอาการขาดยาจากสิ่งเสพติดอื่น เช่น ฝิ่นและมอร์ฟีน เป็นต้น และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามอร์ฟีนเมื่อใช้ในระยะเวลาที่จำกัด กระท่อมยังนำมาใช้แทนแอมเฟตามีน (ยาบ้า) เพื่อเพิ่มพละกำลัง ซึ่งในปัจจุบันพบว่ามีการใช้กระท่อมในลักษณะนี้ในหลายประเทศทั่วโลก การใช้ของต่างประเทศพบว่า ใช้เป็นยารักษาอาการเรื้อรังต่างๆ เช่น ช่วยลดความดันโลหิต บรรเทาเบาหวาน แก้ไอ แก้ระบบย่อยอาหารไม่ปกติ เช่น ท้องเสีย บิดมีตัว ปวดท้องและกำจัดพยาธิในเด็ก และใช้เป็นการกระตุ้นร่างกายให้ทำงานหนักได้ และมีรายงานจากต่างประเทศกล่าวถึงการเริ่มศึกษาใบกระท่อมช่วยอาการซึมเศร้า โรควิตกกังวลและอื่นๆ อีกหลายโรคด้วย และข่าวว่าเพื่อนบ้านเราทั้งเวียดนามและเมียนมา กำลังปลูกกระท่อมกันมากมาย
ความรู้พื้นบ้านของเรามีการนำใบกระท่อมตำพอกแผลภายนอก เช่น ใบกระท่อมนำมาย่างร่วมกับใบหนาด (Blumea balsamifera (L.) DC.) ใบยอบ้าน (Morinda citrifolia L.) และใบเพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz) ตำรวมกัน นำมาพอกในตำแหน่งที่อยู่ขอม้าม แก้ม้ามโต (กรณีม้ามโต ทดสอบได้จากการเอามือจับบริเวณผิวหนังที่ตำแหน่งของม้าม จะรู้สึกว่าร้อน)
ข้อควรระวัง การกินใบกระท่อมมากๆ เป็นระยะเวลานานจะทำให้เม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และถ้ากินกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบ จะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้นทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นในลำไส้ จึงไม่ควรกินกากใบประท่อมและบางรายกินมากไปทำให้เกิดการอาเจียนและท้องเสีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจมีอาการทางจิตได้
กระท่อมยังมีประโยชน์ทางการแพทย์อีกมาก ในเวลานี้รอลุ้นว่ารัฐสภาจะพิจารณากฎหมายกระท่อมเพื่อการแพทย์ที่ภาคประชาสังคมได้รวบรวมรายชื่อเสนอไว้อย่างไร เพราะกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด กระท่อม คือ พืชยา จึงควรมีกฎหมายมากำกับและพัฒนาเป็นการเฉพาะนั่นเอง
แหล่งอ้างอิง : https://www.matichonweekly.com/column/article_248543
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 พฤศจิกายน 2562
คอลัมน์ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
เผยแพร่ วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2563
|