เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติหรือองค์การนาซา ได้ออกมาเปิดเผยการค้นพบครั้งใหม่ว่า นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีลักษณะคล้ายโลก ชื่อว่า “Kepler-1649c” ทั้งขนาดของดาวและอุณหภูมิพื้นผิว โดยอยู่ห่างออกไปประมาณ 300 ปีแสง (1 ปีแสงคือระยะทางที่แสงเดินทางในเวลา 1 ปีหรือประมาณ 9.4 ล้านล้านกิโลเมตร) โดยดาวดวงนี้โคจรรอบดาวฤกษ์ชื่อดาวแคระแดง เช่นเดียวกับโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และคาดว่ามีน้ำเป็นของเหลวในดาวด้วย นักดาราศาสตร์ของนาซาค้นพบดาวดวงใหม่นี้ระหว่างส่องกล้องโทรทรรศน์
ในปัจจุบัน กล้องโทรทรรศน์ Kepler ได้ปลดประจำการและหยุดการบันทึกไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2018 แต่ก็ยังมีข้อมูลมหาศาลจากการถ่ายภาพไว้ที่รอการวิเคราะห์ โดยขณะนี้กล้องมีข้อมูลดาวฤกษ์กว่า 200,000 ดวง ซึ่งนักดาราศาสตร์กำลังวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการพัฒนาระบบอัลกอริทึม Robovetter ของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Kepler ขึ้นมาเพื่อค้นหาดาวในลักษณะต่าง ๆ ที่นักดาราศาสตร์ต้องการศึกษา อย่างไรก็ดี อัลกอริทึมนี้ก็อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบมากนัก เพราะดาว Kepler-1649c นั้นเคยเป็นหนึ่งในรายชื่อดวงดาวที่ระบบตัดทิ้งไปจากการเป็นดาวที่น่าสนใจศึกษา แต่เมื่อทีมนักวิจัยนำข้อมูลที่ถูกตัดทิ้งมาตรวจสอบอีกครั้งจึงทำให้พบดาวเคราะห์ที่อาจจะเป็นเป้าหมายในอนาคตของมนุษย์ที่จะย้ายไปดวงนี้
https://www.beartai.com/news/sci-news/425682