[ คลิกที่รูปเพื่อดูขนาดจริง ]
1ใช้สีช่วยในการจดจำ
สีกับการจดจำมีความเชื่อมโยงกัน งานวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันว่าสีมีส่วนช่วยในกระบวนการจดจำของสมอง การเลือกใช้สีจดบันทึกคำศัพท์จึงช่วยให้สามารถจดจำศัพท์ได้ง่ายมากขึ้น โดยคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สีกล่าวว่าควรเลือกใช้สีไม่เกิน 4 สีในการจดบันทึก หรือเน้นข้อความ เพราะหากใช้สีมากเกินไปจะก่อให้เกิดความสับสนได้
2บันทึกคำศัพท์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
คำศัพท์มีอยู่มากมายหลายคำ หลายประเภท เมื่อพบเจอศัพท์ใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นหู หรือเป็นศัพท์ที่น่าสนใจควรจดบันทึกไว้ โดยเฉพาะคำศัพท์ที่เป็น Synonym และ Antonym คือ คำศัพท์ที่มีความหมายคล้ายคลึงหรือเหมือนกับศัพท์ที่รู้จัก (Synonym) และคำศัพท์ที่มีความหมายตรงข้าม หรือต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากคำศัพท์ที่รู้จัก (Antonym) เพราะคำศัพท์เหล่านี้จะช่วยในเรื่องการหลากคำ ทั้งในการสนทนาและการเขียน
3ฝึกท่องศัพท์ทุกวัน
การฝึกฝนเป็นการกระตุ้นการจดจำที่ดีมากวิธีหนึ่ง การฝึกท่องศัพท์ทุกวันทำให้สมองจดจำคำศัพท์เหล่านั้นได้ แต่การฝึกท่องศัพท์ควรอยู่ในระดับที่พอดี โดยควรท่องวันละ 8 – 15 คำเท่านั้น หากมากกว่านี้อาจทำให้สับสนในความหมายของคำศัพท์แต่ละคำได้ เมื่อท่องได้คล่องแล้วจึงเปลี่ยนคำศัพท์ใหม่สำหรับท่อง และทบทวนคำศัพท์เก่าเป็นครั้งคราว
4จัดคำศัพท์ไว้เป็นหมวดหมู่
คำศัพท์มีหมวดหมู่ของตนเอง โดยสามารถแยกประเภทคำศัพท์ตามการใช้งาน หรือตามชนิดของคำ หรือจะแยกเป็นหมวดที่ตนเองถนัด เช่น คำศัพท์หมวดผักและผลไม้ คำศัพท์หมวดของใช้ภายในบ้าน คำศัพท์หมวดญาติพี่น้อง การแยกหมวดหมู่คำศัพท์ช่วยให้การจดจำศัพท์เป็นระบบ เมื่อจะใช้งานสามารถคิดคำที่อยู่ในหมวดเดียวกันมาต่อบทสนทนาได้อย่างรวดเร็ว
5นำคำศัพท์ไปใช้จริงในชีวิตประจำวัน
การฝึกพูดโดยอาศัยพื้นฐานจากคำศัพท์จะช่วยให้เกิดประสบการณ์ตรงอันเป็นผลมาจากการใช้งาน ซึ่งประสบการณ์จากการพูดคำศัพท์เหล่านั้นจะช่วยให้การจดจำศัพท์ง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากการฝึกพูดแล้วการนำศัพท์ไปแต่งเป็นประโยคเพื่อดูบริบทการใช้ก็ช่วยให้สามารถจดจำคำศัพท์ได้ง่ายดายขึ้นเช่นกัน
6เชื่อมโยงศัพท์กับองค์ความรู้ต่าง ๆ
การเชื่อมโยงคำศัพท์กับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้ว ทำให้การจดจำศัพท์ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการเชื่อมโยงศัพท์อาจเป็นการโยงคำแปลของคำศัพท์ไปกับเรื่องราวที่สอดคล้องในชีวิต หรือการคิดค้นวิธีการจดจำโดยการเชื่อมโยงคำอ่านของศัพท์เข้ากับคำอ่านในภาษาไทย เพื่อให้กระบวนการจดจำใกล้ตัวยิ่งขึ้น
7เพลิดเพลินศัพท์กับเกม
เกมหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลายช่วยให้จดจำศัพท์ได้เร็วขึ้น โดยการจดจำศัพท์อาจจะมาจากการเล่นเกมภาษาอังกฤษ หรือการนำศัพท์ที่ต้องการท่องไปทำเป็นเกม เช่น เกมเปิดการ์ด เกมสลับไพ่เพื่อทายคำศัพท์ การสร้างความผ่อนคลายขณะจำศัพท์ ทำให้การจดจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่กดดันจนเกินไป
8ติดบัตรคำไว้ในห้องหรือในบ้าน
การพบเห็นศัพท์ต่าง ๆ อยู่เป็นประจำช่วยกระตุ้นการจดจำ เพราะฉะนั้นการติดบัตรคำภาษาอังกฤษไว้ตามที่ต่าง ๆ ที่เดินผ่าน หรือพบเห็นเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้สมองคุ้นชินและจดจำคำศัพท์เหล่านี้ เมื่อจะนำมาใช้ก็สามารถคิดได้อย่างรวดเร็ว เป็นวิธีการจดจำคำศัพท์ที่ได้รับความนิยมอีกวิธีหนึ่ง
9ประเมินการจดจำศัพท์เสมอ
การจดจำศัพท์เป็นจำนวนมาก อาจจะเกิดการหลงลืมคำศัพท์เก่า ๆ ที่เคยท่องไว้จึงควรมีการประเมินการจดจำศัพท์อยู่เสมอ วิธีที่ง่ายที่สุดคือการสร้างบัตรคำที่คละคำศัพท์หลายคำไว้ด้วยกัน โดยในบัตรคำด้านหนึ่งมีคำศัพท์และอีกด้านหนึ่งมีรูปภาพ ใช้การมองรูปภาพแล้วนึกคำศัพท์ให้ออกในเวลาสั้น ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง
|