ตาบอดสี ความผิดปกติในการมองเห็น ที่ส่งผลโดยตรงกับชีวิตประจำวัน
อาการตาบอดสีเป็นอาการของคนที่ไม่สามารถแยกแยะสีสันได้เหมือนกับคนทั่วไป ไม่ถือเป็นความผิดปกติและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไป แต่อาจพลาดโอกาสบางอย่างในชีวิต โดยเฉพาะข้อจำกัดในเรื่องของการเลือกประกอบอาชีพ
ความสำคัญของการมองเห็นสีต่าง ๆ ถือเป็นความสามารถที่จะช่วยให้แยกแยะและจัดหมวดหมู่สิ่งต่าง ๆ ได้ โดยกลไกการมองเห็นสีนั้นเริ่มต้นจากการรับแสงจากเซลล์รับภาพที่จอประสาทตา มีการประมวลผลหลัก ๆ 3 สี ได้แก่ เซลล์สีแดง เซลล์สีเขียว และเซลล์สีน้ำเงิน เมื่อเซลล์ถูกแสงกระตุ้นจะทำการส่งข้อมูลไปยังสมองเพื่อประมวลผลและแยกแยะสีต่าง ๆ ตามลำดับ
ประเภทของผู้ที่มีอาการตาบอดสี แบ่งเป็นคนที่เป็นตั้งแต่กำเนิดและคนที่เพิ่งเป็นในภายหลัง ในคนที่เป็นแต่กำเนิด พบบ่อยคือเห็นแสงสีแดงและแสงสีเขียวผิดปกติ ส่วนในคนที่เพิ่งมาเป็นภายหลังมักมีพยาธิสภาพของโรค หรืออะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อจอประสาทตา สมอง หรือส่วนแปลผลรับภาพให้ผิดปกติไป
สาเหตุของอาการตาบอดสีที่พบบ่อยคือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เกิดกับผู้ป่วยแต่กำเนิด นอกจากนั้นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการคือโรคต่าง ๆ พบในผู้ป่วยภายหลัง
ปัญหาที่เกิดจากอาการตาบอดสี มักเกิดกับเด็กเล็กวัยอนุบาล เนื่องจากสื่อการเรียนการสอนมักใช้สีสันสดใส ทำให้มีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ส่วนในเด็กประถมฯ หรือมัธยมฯ มีปัญหาไม่มาก เพราะสื่อการเรียนการสอนไม่ได้ใช้สีสันมากนัก
นอกจากเด็กเล็กแล้วอาการตาบอดสีมักทำให้เกิดปัญหาต่อการขับขี่ยานพาหนะ แต่ถ้าหากเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่เกิดความเสี่ยงมากกว่าคนปกติมากนัก เพราะไฟจราจรที่ใช้มักมีความเข้มของแสงสูง ทำให้คนตาบอดสีสามารถแยกแยะได้ส่วนหนึ่ง จึงสามารถขับรถได้ปลอดภัย ส่วนใหญ่จะมีปัญหากับคนที่ขับรถสาธารณะมากกว่า
อาชีพที่ต้องใช้การจำแนกสีที่ผู้เป็นตาบอดสีไม่สามารถทำได้ ได้แก่ ทหาร, ตำรวจ, นักบิน, เภสัชกร, พนักงานขับรถ, พนักงานขับเครื่องบิน, พนักงานขับรถไฟ, พยาธิแพทย์, แพทย์เฉพาะทางบางสาขา, เจ้าหน้าที่ห้องตรวจปฏิบัติการในโรงพยาบาล
การตรวจอาการตาบอดสีเบื้องต้นมีอุปกรณ์หนึ่งชื่อว่า Ishihara Test ใช้ในการจำแนกผู้ป่วย แต่การตรวจลักษณะนี้จะไม่ได้บอกระดับความรุนแรงของอาการป่วย หากต้องการทราบระดับความรุนแรงจะมีอุปกรณ์อีกหนึ่งชนิดเรียกว่า Farnsworth D-15 เพื่อให้ผู้ป่วยเรียงลำดับสีอ่อนสีเข้ม หากคนที่มีอาการตาบอดสีรุนแรงเมื่อทำแบบทดสอบนี้ การเรียงสีจะไม่ไล่ลำดับกัน เช่น นำสีแดงมาสลับกับสีฟ้า เป็นต้น
การรักษาอาการตาบอดสีถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นนัก เพราะผู้ที่มีอาการยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง อีกทั้งในเรื่องของการรักษายังทำได้ยาก เนื่องจากเกิดในโมเลกุลระดับเล็กที่อยู่ในเม็ดสีภายในเซลล์ของจอประสาทตา ที่พบบ่อยมักตาบอดสีแดงและสีเขียว ซึ่งเป็นการเคลื่อนเข้ามาใกล้กันของเซลล์เม็ดสี คนกลุ่มนี้อาจเห็นสีแดงคล้ายสีเขียวหรือสีเขียวคล้ายสีแดง การใช้เลนส์บางชนิดเพื่อเพิ่มการกรองสีช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถแยกแยะสีออกจากกันได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นนัก
ความสำคัญเกี่ยวกับการตรวจอาการตาบอดสี สำคัญมากในวัยเด็กที่ควรได้รับการตรวจก่อนถึงวัยเลือกอาชีพหรือเลือกสาขาวิชาเรียน ควรได้รับการตรวจในวัยประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา เพื่อให้เด็กได้วางแผนเกี่ยวกับการเลือกสายเรียนได้เหมาะสมกับตนเอง และถ้าหากในคนที่มีอาการตาบอดสีภายหลังหรือไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด ควรได้รับการตรวจละเอียดเพื่อให้ทราบสาเหตุ เพราะอาจมีโรคร้ายบางอย่างแฝงอยู่
อ้างอิง https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article
|