โรคไต (Kidney disease) คือ โรคที่เกิดจากไตทำงานผิดปกติจึงส่งผลให้เกิดของเสีย และ/หรือ สารอาหาร และ/หรือธาตุอาหารส่วนเกินที่ปกติร่างกายจะกำจัดออกทางปัสสาวะโดยผ่านการทำงานของไต ซึ่งเมื่อเกิดโรคไต ไตจะทำงานได้ลดลง จึงก่อให้เกิดการคั่งของสิ่งที่ร่างกายไม่ต้องการเหล่านั้น ส่งผลถึงการทำงานของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ จนถึงเกิดเป็นภาวะไตวาย ซึ่งการที่ร่างกายกำจัดของเสียไม่ได้ เนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆก็จะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จนในที่สุดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากภาวะไตวาย ถ้าไม่ได้รับการล้างไต หรือไม่ได้รับการปลูกถ่ายไตในช่วงเวลาที่เหมาะสม
โรคไต เป็นโรคพบได้บ่อยโรคหนึ่งทั่วโลก พบเกิดได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจน ถึงผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
โรคไต แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
โรคไตเฉียบพลัน คือโรคไตที่เกิดจากสาเหตุเฉียบพลัน ซึ่งพบได้น้อยและมักสามารถรักษาได้หายในระยะเวลาสั้นๆ เช่น ไตขาดเลือดจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
และโรคไตเรื้อรังที่พบได้สูง และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขในปัจจุบัน โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรตไตเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจ ดังนั้นสถิติของการเกิดโรคไตเรื้อรังจึงขึ้นกับสถิติของโรคดังกล่าวด้วย นอกจากนั้นโรคไตเรื้อรัง จะพบได้สูงมากขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เพราะในวัยนี้ ประชากรมักเป็นโรคต่างๆที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไตเรื้อรัง
โรคไตที่พบได้บ่อย คือ โรคไตเรื้อรัง (ดังนั้น เมื่อกล่าวถึง โรคไต ทั่วไปจึงมักหมายถึง โรคไตเรื้อรัง) ที่มีสาเหตุมาจาก โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และโรคหัวใจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการอักเสบ และ/หรือ การขาดเลือดของเซลล์ไต ส่วนโรคเรื้อรังจากสาเหตุอื่นๆที่พบได้ เช่น โรคไตจาก โรคนิ่วในไต โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง โรคถุงน้ำหลายๆถุงในไตทั้งสองข้าง (Polycystic kidney disease) และโรคมะเร็งไต ส่วนโรคไตเฉียบพลันซึ่งพบได้น้อยมาก เช่น จากไตขาดเลือดทันที (เช่น การเสียเลือดมาก) ภาวะขาดน้ำ หรือ อุบัติเหตุที่ไต จากแพ้ยาบางชนิด (เช่น จากยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือการแพ้สารทึบแสง/สี ที่ฉีดในการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ)
โรคไต
HonestDocs
[url]https://www.honestdocs.co/8-risks-that-may-cause-kidney-disease[/url]
[url]https://www.honestdocs.co/[/url]
|